Farm to Table คืออะไร ทำไมเป็นเทรนด์อาหารสุขภาพที่นิยมได้

ช่องทางอื่น ๆ

29/01/2019

Farm to Table คืออะไร? รู้จักเทรนด์อาหารสุขภาพที่ดีต่อร่างกายและดีต่อโลกfarm to table-Farm-to-Table ความสุขกินได้

“สุขภาพดี” คือสุดยอดปรารถนาของการใช้ชีวิต เพราะเมื่อเรามีร่างกายที่แข็งแรง มีจิตใจที่เบิกบาน การจะทำกิจการงานใดก็ย่อมเป็นไปได้เสมอ

การเป็นเจ้าของ “สุขภาพดี” นั้นมีองค์ประกอบสำคัญๆ เพียงไม่กี่ประการ หนึ่งในนั้นคือ “อาหารการกิน” ซึ่งปัจจุบันเทรนด์อาหารสุขภาพมีอยู่มากมายหลายประเภท ทั้งอาหารคลีน อาหารคีโต อาหารมังสวิรัติ และที่กำลังมาแรงสุดๆ ในธุรกิจอาหารยุคนี้ก็คือ Farm to Table เมนูอาหารสดใหม่จากผู้ผลิตเสิร์ฟ ส่งตรงถึงโต๊ะผู้บริโภค

Farm to Table เทรนด์สุขภาพดีที่พิถีพิถัน

Farm to Table คือการที่ผู้ผลิตหรือเกษตรกรนำพืชผักที่ปลูกขึ้นเองหรือเนื้อสัตว์ที่ได้จากฟาร์มเลี้ยงดูแบบไร้สารเคมีนำมาปรุงในสไตล์โฮมเมดแล้วเสิร์ฟให้กับลูกค้าได้ทานแบบสดใหม่วันต่อวัน ทำให้อาหารจานนั้นมีรสชาติความอร่อยจากธรรมชาติแท้ๆ จนผู้บริโภคสามารถสัมผัสได้ถึงคุณภาพที่ดีต่อกายและใจ

อาหารประเภท Farm to Table ได้รับการยอมรับว่าเป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เนื่องจากมีกระบวนการผลิตที่พิถีพิถันตามวิถีการเกษตรแบบอินทรีย์ซึ่งมีความเป็นธรรมชาติสูง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปราศจากการตัดแต่งพันธุกรรม ไม่ใช้สารเคมีหรือสารปรุงแต่งเพื่อเร่งหรือควบคุมการเจริญเติบโตของพืชและสัตว์ จึงทำให้มั่นใจได้ว่าร่างกายจะไม่ได้รับสิ่งปนเปื้อนตกค้างเมื่อรับประทานอาหารเหล่านั้น

นอกจากนี้อาหารประเภท Farm to Table ยังเน้นการปลูกพืชผักตามฤดูกาลเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนตามวัฎจักรชีวิตซึ่งส่งผลต่อคุณภาพและความยั่งยืนด้านอาหารในอนาคต และลดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลนอกฤดูกาลอันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้บริโภคอย่างเราๆ ต้องเสียเงินซื้อวัตถุดิบในราคาที่แพงขึ้น

Farm to Table กลยุทธ์แห่งความยั่งยืนแบบครบวงจร

Farm-to-Table ความสุขกินได้

ประเทศไทยได้ชื่อว่า “ครัวของโลก” เป็นสวรรค์ของนักกินที่ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็มีอาหารหรือขนมให้ทานได้ตลอด ข้อมูลจาก Euromonitor เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทย ปี 2560 พบว่าคนไทยหมดเงินไปกับค่าใช้จ่ายด้านอาหารมากที่สุดถึง 21.2% หรือคิดเป็นมูลค่า 1.8 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว แต่ก็เป็นเรื่องน่าเสียดายที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization หรือ FAO) พบว่า 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตทั่วโลก หรือราว 1.3 ล้านตัน/ปี กลายเป็นขยะที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ขาดความมั่นคงทางอาหาร และที่สำคัญคือเผาผลาญทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ และพลังงานโดยไม่จำเป็น

Farm to Table จึงเปรียบเหมือนกลยุทธ์ที่เข้ามาอุดช่องโหว่งของห่วงโซ่อุปทานด้านอาหารการกินตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำได้อย่างดี กล่าวคือ เกษตรกรไม่ได้มีหน้าที่เพียงเพาะปลูกหรือผลิตวัตถุดิบเท่านั้น แต่ยังนำพืชพรรณหรือเนื้อสัตว์ที่ได้มาปรุงในจุดเดียวกันหรือใกล้กับฟาร์มของตัวเองและเสิร์ฟถึงมือผู้บริโภคโดยตรงในปริมาณที่พอเพียงกับศักยภาพที่มี เทรนด์การทานอาหารแบบ Farm-to-Table จึงรักษาความสดใหม่และคุณค่าทางอาหารที่ดีต่อร่างกายไว้ได้มาก ไม่ต้องสิ้นเปลืองกับบรรจุภัณฑ์และการขนส่งที่ทำให้เกิดการสูญเสียเชื้อเพลิงและคุณภาพอาหาร ลดขั้นตอนและเวลาการส่งมอบระหว่างผู้ผลิตถึงผู้บริโภค ซึ่งบ่อยครั้งที่เราต้องทิ้งอาหารโดยไม่จำเป็นเพียงเพราะมีขั้นตอนการนำส่งมากเกินไป และในกรณีที่มีอาหารเหลือหรือจำเป็นต้องทิ้งบางส่วน ทางฟาร์มสามารถนำไปหมักเป็นปุ๋ยชีวภาพและหมุนเวียนใช้ในการผลิตได้โดยไม่เสียของและไม่เป็นภาระต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องขยะมูลฝอย

การผลิตและจำหน่ายในชุมชนใกล้เคียงแบบ Farm to Table ยังมีลักษณะความยั่งยืน (Sustainability) ช่วยสนับสนุนอาชีพเกษตรกรรายย่อยให้มีความมั่นคง สามารถกำหนดราคาขายได้ตามจริง โดยไม่ถูกคนกลางหรือบริษัทขนาดใหญ่เอาเปรียบเหมือนที่ผ่านมา ส่งเสริมให้เศรษฐกิจชุมชนดีขึ้น มีการจ้างงานในธุรกิจอาหารและบริการโดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดจะถือว่ามีส่วนช่วยลดการย้ายถิ่นฐานของแรงงานเข้าสู่เมืองหลวงได้มาก ในขณะที่ระบบ Farm to Table ที่เกิดขึ้นในเขตเมืองจะช่วยให้มีการนำที่ดินเปล่ามาใช้ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น และทำให้เกิดพื้นที่ผลิตอาหารที่สามารถจะเลี้ยงคนในเมืองได้มากยิ่งขึ้น พร้อมๆ กับประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่งได้อย่างมหาศาล

ลงมือทำ Farm to Table ที่บ้านเนอวานา

Farm-to-Table ความสุขกินได้

Farm to Table ไม่ได้มีแต่เฉพาะธุรกิจด้านอาหารเท่านั้น ในภาคครัวเรือนก็สามารถทำได้เช่นกัน ซึ่งหากมองกันตามจริงแล้ว การปลูกพืชผักสวนครัวหรือผักริมรั้วเพื่อเอาไว้ทานกันเองในครอบครัวของคนไทยเป็นที่ปรากฏมาเนิ่นนานก่อนกระแสจาก Farm to Table เสียด้วยซ้ำ

ลูกบ้านเนอวานาที่สนใจนำไอเดีย Farm to Table สามารถลงมือได้ง่ายๆ กับพื้นที่สวนที่มีอยู่รอบบ้าน โดยลงเป็นแปลงผักเล็กๆ หรือทำเป็นแนวรั้ว สำหรับผักประเภทที่ปลูกแล้วมีผลเก็บกินได้ตลอดทั้งปี เช่น มะระ แตงกวา ตำลึง และปลูกในกระถางสำหรับผักที่มีอายุสั้น เก็บกินและปลูกใหม่หมุนเวียนเรื่อยๆ เช่น ต้นอ่อนทานตะวัน ใบกะเพรา พริก เพียงเท่านี้ก็จะมีผักและวัตถุดิบที่สดใหม่ หลากหลาย และมั่นใจความปลอดภัยได้เต็มร้อย

ยิ่งเก็บมาใหม่ๆ จากต้นแล้วนำมาปรุงทันทีในห้องครัวที่แสนสะอาดและทันสมัยของบ้านเนอวานา ก็ยิ่งรับรู้ได้ถึงความแตกต่างของคุณภาพอาหารและความอร่อยที่รับรองว่าร้านอาหารแบบ Farm to Table อาจสู้ไม่ได้อย่างแน่นอน และเหนือสิ่งอื่นใดคือการได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันของสมาชิกในครอบครัว เพื่อสร้างสรรค์เมนูจานโปรดและร่วมรับประทานอาหารด้วยความอิ่มเอมกายและหัวใจ สมกับเป็นความสุขกินได้ที่แสนมหัศจรรย์

#DetailsMakeMagic #NaturalElement #Fulfilling #Happiness #NirvanaHome #NirvanaDaii

facebook-msn