เวลาทำงานมันค่อนข้างสัมพันธ์กับชีวิตตัวเอง ไม่ใช่แค่ทำให้เสร็จแต่อยู่ที่ได้เรียนรู้อะไรระหว่างทำ

ช่องทางอื่น ๆ

20/11/2019

เวลาทำงานมันค่อนข้างสัมพันธ์กับชีวิตตัวเอง ไม่ใช่แค่ทำให้เสร็จแต่อยู่ที่ได้เรียนรู้อะไรระหว่างทำ

ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตและเติบโตในยุคแห่งความมีเอกลักษณ์ ลงลึกไปถึง subculture ชื่นชอบงานศิลปะ และมีศิลปินในดวงใจ งานของผู้ชายคนนี้ที่เรากำลังจะพูดถึง คุณไม่น่าจะพลาดชื่นชมในตัวตนและผลงานของเขา ไล่เรียงกันตั้งแต่ปี 2010 กับหนังสั้น “มั่นใจคนไทยเกินล้านเกลียดเมธาวี” เรื่อยมาในปี 2013 กับความงุนงงสงสัยกับบทที่เรียลเกินกว่าจะคาดเดาได้ใน “แมรี่ อิส แฮปปี้” และผลงานที่เป็นที่รู้จักในระดับแมสมากที่สุด ก็คงหนีไม่พ้น “ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ” เกริ่นกันมาถึงตรงนี้ ภาพผู้ชายหนุ่มใส่แว่น ก็เข้ามาย้ำชัดว่าวันนี้ เราจะได้พูดคุยกับผู้กำกับที่สร้างความไม่แมสให้แมสจนได้ คุณเต๋อ นวพล ธํารงรัตนฤทธิ์ กับการพูดคุยที่เจาะลึกไปถึงการใช้ชีวิต แนวคิด และการทำงาน เพราะเราเชื่อเสมอว่า งานที่ดีย่อมมีความคิดที่ดีเป็นจุดเริ่มต้น ซึ่งภายใต้ความคิดที่เกิดขึ้นนั้น คงต้องใช้พื้นที่และองค์ประกอบที่มีความเป็นตัวเองอยู่มาก ซึ่งในพื้นที่การสร้างงานของศิลปิน นั่นก็มีความเฉพาะเจาะจงในเรื่องต่างๆพอสมควร วันนี้จึงเป็นโอกาสที่ดี ที่คุณเต๋อ จะเปิดพื้นที่ส่วนตัวและลงลึกไปถึงจุดเริ่มต้นของการสร้างงาน ในแบบฉบับ Make the most of your space พื้นที่ที่ใช่ในแบบ เต๋อ นวพล

ในปีที่ผ่านมา ถ้าพูดถึง เต๋อ นวพล เราจะคิดถึงอะไร

“จริงๆปีนี้มีแค่หนังยาวหนึ่งเรื่อง ถ้าปีไหนทำหนังยาว ชีวิตกับหนังก็จะเมิร์จรวมเป็นอันเดียวกันเลย งานนี้มันเป็นงานใหญ่ที่เราทั้งเขียนบทด้วย กำกับด้วย และโปรดิวซ์เองด้วย เลยต้องอยู่กับมันตลอดเวลา จนถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้รับงานอื่นเลย คือทำงานเดียวจริงๆ เพราะมันยาก สมมติทำโฆษณามันเหมือนทำห้องๆเดียว แต่ทำหนังคือทำบ้านทั้งหลัง มันเหมือนต้องดูว่าห้องนี้เสร็จแล้ว แล้วมันสัมพันธ์กับห้องอื่นหรือเปล่า ถ้าห้องนี้ดีแต่ไม่สัมพันธ์กับบ้านทั้งหลังต้องทำอย่างไรให้มันสัมพันธ์กัน มันเลยต้องคิดเยอะมากเป็นพิเศษ ว่าอะไรสัมพันธ์กับอะไร นักแสดงเหมาะกับบทหรือเปล่า ตอนต้นเรื่องไปกับตอนจบหรือเปล่า เพราะฉะนั้นปีไหนทำหนังยาวก็จะหมดกับเรื่องนั้นไปเลย”

#มันไม่ใช่แค่ทำให้เสร็จแต่อยู่ที่ได้เรียนรู้อะไรระหว่างทำ

“คือเวลาทำงานไม่ว่าจะเป็นหนังสั้น หนังยาว หรือโฆษณา มันค่อนข้างสัมพันธ์กับชีวิตตัวเอง หมายถึงว่าเป็นเรื่องที่เราอยากเล่าจริงๆ กับสองทำแล้วได้เรียนรู้ มันไม่ใช่แค่ทำให้เสร็จแต่อยู่ที่ได้เรียนรู้อะไรระหว่างทำ เราอยู่กองนี้เราได้อะไร ได้เรียนรู้วิธีการทำหนังมากขึ้น ในขณะเดียวกันเราได้เจอคนเยอะๆ เราได้เจอสถานที่ เจอโลเคชั่น เราได้คุยกับคนแถวนั้นแล้วได้อะไรบ้าง สำหรับผมการทำงานหนึ่งปีมันไม่ใช่แค่ได้งานเฉยๆ ผ่านไปสามร้อยหกสิบห้าวันเราก็โตขึ้น ได้เจอปัญหา ได้เจออะไรใหม่ๆเต็มไปหมด ถ้าพูดถึงปีนี้คืออะไรก็คือหนังเรื่องนี้แหละ แต่ในหนังเรื่องนี้ก็คือสิ่งที่เราได้เรียนรู้ เราได้เจออะไรมากมาย สถานที่ คน เจอปัญหาใหม่ๆ เรียนรู้ชีวิต เรียนรู้ข้อคิดใหม่ๆ อะไรแบบบนี้

หนังเรื่องนี้เกี่ยวกับอะไร

“ตอนนี้ชื่อชั่วคราวคือ 'ฮาวทูทิ้ง ทิ้งอย่างไร ไม่ให้เหลือเธอ' นำแสดงโดย น้องออกแบบจากฉลาดเกมโกง มีพี่ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์ พี่อุ๋ม อาภาศิริ น้องฟ้า ษลิกา เรื่องนี้จะเรียกว่าหนังรักก็ได้ แต่จะพูดถึงความสัมพันธ์มากกว่า คือเนื้อเรื่องมันเกี่ยวกับนางเอกจะรีโนเวทบ้านใหม่ ทุกคนที่เคยคลีนบ้านมักจะค้นเจอของเก่าแล้วต้องตัดสินใจว่าจะเก็บ จะทิ้ง หรือจะเอาไปคืนคน พล็อตมันจะว่าด้วยนางเอกเจอของในห้องแล้วเธอจะทำยังไงกับสิ่งนั้น ของบางอย่างทำให้นึกถึงเรื่องราวในอดีตที่ยังค้างคากันอยู่ ทั้งเรื่องชีวิตและความรัก จะฉายวันที่ 26 ธันวาคมนี้”

wetransfer-f1940a/TerXNirvana_for%20block-03.jpg

หนังแต่ละเรื่องมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อะไรที่เป็นองค์ประกอบที่ทำให้เกิดงานเหล่านี้

“องค์ประกอบที่สำคัญเลยคือ สิ่งที่เราสนใจมากๆในตอนนั้น มันต้องมีสิ่งที่เราสัมพันธ์กับมันไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง อาจจะคิดได้จากสตอรี่ที่เราเคยเจอหรือภาพที่เคยเห็น นี่คือองค์ประกอบสำคัญที่มีตัวเราเข้าไปเกี่ยวข้อง ถึงจะเป็นโฆษณาที่มีบรีฟมาก็ตาม แต่เวลาเราทำงานเราก็จะลองใช้มุมมองของเรานำเสนอไป ให้เขาซื้อในแบบที่เราเห็น ถ้าเขาซื้อตั้งแต่ต้นเวลาทำงานก็จะสมูทมาก เพราะเหมือนเราเข้าใจกันตั้งแต่แรก เวลาทำงานก็จะไม่มีปัญหาและผ่านไปได้จนจบ แต่บางทีก็มีเหมือนกันที่มาคนละทางกัน ส่วนใหญ่ก็จะปฏิเสธไปและเราคิดว่ามันแฟร์กับเขาด้วย ถ้าหากเรามองไม่ตรงกันเราก็ไม่ควรจะไถๆกันไป เราควรเจอคู่ที่ถูกต้องมากกว่า คุณก็จะได้งานที่ดีกว่า ถ้าให้ผมทำอาจไม่ถนัด ผมอาจมองไม่เห็นอันเดียวกัน”

#แม้ห้องจะเป็นสิ่งก่อสร้างแต่สุดท้ายก็สัมพันธ์กับคนอยู่ดี

“องค์ประกอบอื่นๆที่ผมสนใจก็คือ ผู้คน ต่อให้ผมจะทำเรื่องไหนหรือสตอรี่อะไรก็ตาม มันก็จะกลับมาพูดถึงว่าทำไมคนเราถึงคิดแบบนี้ พูดแบบนี้ หรือทำแบบนี้ ผมคิดว่าไม่ว่าอะไรก็ตามบนโลกนี้ อย่างสิ่งก่อสร้างมันจะสัมพันธ์กับมนุษย์ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่งอยู่แล้ว หลังๆผมชอบอ่านหนังสือสถาปัตย์ ไม่ใช่เพราะมีความรู้ เพราะสนใจในแง่ที่ว่าทำไมคุณถึงสร้างบ้านแบบนี้ บรีฟลูกค้าคืออะไร เหมือนอ่านเจองานของญี่ปุ่นและพบสตอรี่ว่าครอบครัวนี้อยู่กัน 3 คน แม่เสียไปแล้ว แต่อยากให้รู้สึกว่าแม่ยังอยู่ในห้องนี้ แม้ห้องจะเป็นสิ่งก่อสร้างแต่สุดท้ายก็สัมพันธ์กับคนอยู่ดี เลยสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ ผมสนใจในไดอะล็อกมากกว่า หนังส่วนใหญ่ที่ผมทำสตอรี่อาจไม่ได้หวือหวามาก แต่จะเป็นเรื่องเล็กๆของคน 2 คนที่ไม่เข้าใจกัน มีความต้องการไม่เหมือนกันนิดๆหน่อยๆ เขาต้องเจรจาจนหาจุดตรงกลางให้ได้ สนใจในเรื่องคอนเวอร์เซชั่นของคนและความตลกหน้าตาย เพราะเวลาทำหนังชอบทำจากมุมมองของออบเซิร์ฟเวอร์ สมมติคนที่ทะเลาะกันอยู่แล้วคนที่อยู่นอกวงแล้วมองเข้าไปว่าเขาทะเลาะอะไรกัน ความหน้าตายคือการที่ตัวละครไม่รีแอคกับสถานการณ์ตรงหน้า แล้วให้โอพิเนียนออกมาบางอย่าง ซึ่งเป็นสไตล์ที่ผมสนใจ”

ถ้ากลับไปจุดเริ่มต้นของแนวความคิดแบบนี้ ตอนนั้นเริ่มจากอะไร

“เรื่องราวส่วนใหญ่ในหนังมักจะเป็นเรื่องใกล้ตัว เริ่มจากเรื่องใกล้ๆ เรื่องที่สนใจ เรื่องที่อินในเวลานั้น ผมไม่ใช่คนที่ชอบทำอะไรที่แฟนตาซีหรือไซไฟมาก ต่อให้ผมทำไซไฟก็จะเป็นไซไฟที่ใกล้ตัวอยู่ดี เหมือนตอนทำฟรีแลนซ์ หนังว่าด้วยเรื่องที่พระเอกไม่สบายต้องไปหาหมอที่โรงพยาบาลรัฐ เรารู้ว่ามันต้องตื่นตีห้า เรารู้ว่ารอหมอมันนานแค่ไหน ต้องเจออะไรบ้าง ไอเดียมาจากเราเจอหมอที่อายุใกล้กัน คุยไปคุยมาก็เหมือนเพื่อนกันว่ะ แค่จินตนาการต่อว่าถ้ามันเป็นหนังรักก็สนุกดีนะ ถ้าตัวละครชอบหมอขึ้นมา แล้วเจอหมอได้แค่เดือนละครั้ง ครั้งละประมาณห้านาทีก็ต้องกลับบ้าน แล้วค่อยๆสร้างเงื่อนไขขึ้นมา ทั้งหมดนี้มันมาจากเรื่องเล็กๆน้อยๆ”

wetransfer-f1940a/TerXNirvana_for%20block-01.jpg

สเปซในการคิดงาน ต้องไปคิดในที่แบบไหน งานถึงจะพรั่งพรูมาแบบนี้

“เราไม่ได้มีร้านกาแฟที่ต้องไปหรืออะไรแบบนั้น จริงๆทุกที่ๆเราอยู่ทั้งที่ไพรเวทและพับบลิคก็คิดงานได้ แต่ไอเดียส่วนใหญ่ของผมจะเกิดในที่สาธารณะมากกว่า คือ ที่มีคนเยอะๆ เวลาคิดอะไรไม่ออกจะใช้ศัพท์กับเพื่อนว่า “ออกไปรับคน” คือไปในที่มีคนเยอะมาก ไปเดินเจอคนเจออะไรเต็มไปหมดเลย ถ้านั่งร้านกาแฟก็จะอยากนั่งร้านที่คนเยอะๆ หรือตรงหน้าดิสเพลย์ที่เหมือนหน้าฟีดในชีวิตจริงที่สามารถไหลเข้ามา บางครั้งเจอบ้างไม่เจอบ้าง แต่ยังดีกว่าที่เงียบๆปิดๆอย่างเดียว

คิดงานข้างนอก แล้วจบงานที่ไหน?

“ถ้าเกิดไปรับมาแล้วส่วนใหญ่จะจบที่บ้าน หรือจบที่ห้องที่ออฟฟิศที่เงียบมากๆ แต่ที่บ่อยที่สุดน่าจะเป็นห้องนอน คือทำไปเรื่อย ๆ ได้ เหมือนไปผจญภัยทั้งวันแล้วมาจบ สุดท้ายที่เตียง ที่ห้องนอน เป็นส่วนที่เงียบสุด สมาธิออกสุด ทำได้ยาวสุด

สเปซแบบไหนที่ไม่ใช่ เต๋อ นวพล แน่ๆ

“อาจเป็นเรื่องผู้คนมากกว่า เพราะต่อให้เป็นพื้นที่ที่ตรงข้ามกับสไตล์เรามากๆ เราก็จะรู้สึกโอเคอยู่นิดนึง คือมันไม่เหมือนเราหรอกแต่ขอดูหน่อยว่ามันเป็นอย่างไร ส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวกับสถานที่เท่าไหร่ แต่เกี่ยวกับผู้คนมากกว่า เหมือนไปอยู่ในที่ๆเราไม่ฟิตอินกับผู้คนเลยแม้แต่น้อย เราก็จะรู้สึกแบบ อืม...! แต่ไม่ใช่ว่าเราไม่สามารถอยู่กับคนที่ไม่เหมือนเราได้นะ อาจเป็นเรื่องนิสัยใจคอมากกว่าไม่ใช่แค่ไลฟไตล์ ไม่ใช่ว่าผมทำหนังไม่แมสแล้วจะอยู่ในที่แมสไม่ได้ ผมยินดีที่จะไปคอนเสิร์ตที่ซุปเปอร์แมสเพื่อไปดูผู้คนได้ ต่อให้เป็นสถานที่ไม่คุ้นเคยก็จะยังรู้สึกอยากไปอยู่ดี เราทำงานแบบนี้ด้วย เช่นเราก็อยากไปออฟฟิศที่แบบเป็นออฟฟิศมากๆ พาทิชันแต่ละที่ทำอย่างไรให้ไม่เหมือนกัน ทำไมเขาถึงแบ่งห้องแบบนี้ บางทีเราก็รู้สึกสนุกดีเหมือนกัน”

wetransfer-f1940a/TerXNirvana_for%20block-02.jpg

เพราะฉะนั้นการเลือกอยู่ในสเปซของเราได้ จึงเป็นเรื่องที่ดี

“มันเหมือนเจอเพื่อสนิท บางทีเรานั่งอยู่คนเดียวมันก็จะมีไดอะล็อกบางอย่างระหว่างเรากับสถานที่นั้น พอพูดว่าไดอะล็อกบางทีเราจะนึกถึงคน แต่จริงๆมันไม่ใช่ โดยปกติเราจะปฏิสัมพันธ์กับห้องหรือสเปซนั้นๆอยู่แล้วโดยอัตโนมัติ การไปอยู่ในที่ๆใช่ มันเหมือนมีเพื่อนคุย ถ้ายกตัวอย่างการเที่ยวจะง่าย บางคนชอบไปทะเล ไปภูเขา ซึ่งทะเลไม่ใช่คน แต่ไปนั่งด้วยแล้วรู้สึกสบายใจ เราจะมีไดอะล็อกบางอย่างกับที่นั่น ผมไม่ชอบไปแนวธรรมชาติ ผมชอบไปตึก ล่าสุดผมไปมอสโคมา มันเป็นที่ๆโคตรใช่เลย เราชอบแลนด์สเคปเขา เราชอบงานสถาปัตย์เขา ไม่จำเป็นต้องไปตามสถานที่ท่องเที่ยว แค่เดินจากโรงแรมก็เที่ยวได้เลยแบบ โห..ทำตึกแบบนี้เลยหรอ เพราะทุกที่มีคอนเวอร์เซชั่นหมด บางทีมันเป็นเสาที่ธรรมดาสำหรับคนอื่น แต่ถ้าเราชอบแค่เสาก็มีความหมาย ถ่ายเข้าไปหลายรูป”

ย้อนกลับมาที่ชีวิตประจำวันในตอนนี้บ้าง

“ถ้าเป็นช่วงนี้คือรูทีนมาก แต่ถ้าปกติธรรมชาติการทำงานจะเมิร์จกับชีวิตประมาณนึง ไม่ใช่เวลางานที่ชัดเจน แต่เหมือนทำงานตลอดเวลา สมัยก่อนแย่กว่านี้เพราะคิดงานไปเรื่อยจนถึงตีสอง มีเวลาทำงานในหัวว่าเที่ยงคืนพอแล้ว ห้าทุ่มพอแล้ว ซึ่งจริงๆเป็นผลดีมากกว่าถ้ารู้จักหยุด เพื่อให้สมองมันเรียงแปบนึง แล้วเดี๋ยวตื่นเช้ามามันจะเห็นอะไรมากขึ้น เพราะแต่ละวันเลยใช้ชีวิตไปพร้อมๆกับทำงาน ตอนเขียนสคริปต์ก็ออกไปใช้ชีวิต ไปเจอคน เจอเพื่อน บางวันต้องนั่งในห้องเงียบๆ เหมือนได้ข้อมูลเยอะๆ แล้วต้องเอามาเรียง ไอเดียที่รับมาห้าสิบอัน ต้องมาเลือกว่าอันไหนเข้า อันไหนออกต้องใช้สมาธิตลอด ช่วงตัดต่อนี่ชัดกว่า เหมือนเราได้ของมาแล้ว เราก็ต้องเอามาเรียงกันซึ่งยาวมาก เราห้ามหยุดหลายวันเลย เพราะจะจำไม่ได้ว่านาทีนี้เราคิดอะไรไว้ แล้วมันจะต่อไปนาทีอื่นยังไง ซึ่งช่วงนี้จะเป็นช่วงที่อยู่กับตัวเองเยอะ เพราะถ้าสมาธิพังต้องเริ่มใหม่หมดเลย”

wetransfer-f1940a/TerXNirvana_for%20block-05.jpg

ถ้าชีวิตประจำวันสัมพันธ์กับงาน แสดงว่าบ้านก็เป็นส่วนสำคัญ

“บ้านคือที่ๆมีของครบ ส่วนออฟฟิศคือที่ๆมาเอาโต๊ะ กับเอาความออฟฟิศเชียลของมัน เราไม่สามารถนอนเละเทะได้ ข้อเสียอีกอย่างของออฟฟิศ คือ ไม่มีของที่ทำให้เรานึกออกนอกจากจะขนมาวางไว้ งานที่ผมทำต้องการการมองเห็นสูง เหมือนไอเดียที่เราเคยมีแต่พอไม่เห็นของเราก็ลืม บางทีมีของอยู่แต่แค่ไม่ได้หันไปมองมันเราก็ลืมแล้ว เพราะฉะนั้นการอยู่ที่บ้านเวลาเราคิดอะไรไม่ออกให้มองไปรอบๆ ทั้งของที่ชอบ หรือของที่ไม่เกี่ยวกับสตอรี่ที่ทำก็ได้ บางครั้งเหมือนทำไปแล้วก็งงว่าเราทำเรื่องนี้ทำไม ด้วยไอเดียหรือคอนเซปท์อะไรกันแน่ แต่พอได้หันไปเห็นหนังสือเล่มที่เราเคยอ่านเราจะ อ๋อ! ใช่! มันต้องเป็นแบบนี้ ที่บ้านจะมีเชลฟ์หนังสืออยู่ บอกตัวเองเลยว่าถ้างงให้เดินมาตรงนี้แล้วไล่หาไปเรื่อยๆ เดี๋ยวจะเจอเอง เพราะบางทีทำงานไปนานๆ เราจะลืมไอเดียตอนต้นว่าเราทำอะไรกันแน่”

wetransfer-f1940a/TerXNirvana_for%20block-07.jpg

#มันเป็นโพรเซสในจิตใจ

“ไอเดียตอนต้นมันคือ ไดรฟ์สำคัญที่ทำให้เราสร้างงานชิ้นนี้ขึ้นมา แต่บางทีเราทำงานไปเรื่อยๆ เราเหมือนออกทะเลมาไกลมากแล้วแต่ลืมไปว่าเราขึ้นเรื่อที่ไหน ผมเขียนสคริปท์หนังเรื่องนี้ถ้านับธันวาคมนี้ประมาณสามปี แล้วผมเขียนก่อนหน้านั้นประมาณสองปีกว่า มันเป็นโพรเซสในจิตใจ กว่าจะได้สร้างมันจะเป็นแค่แปลนในหัวที่มีสิทธิ์หลงง่ายมาก เพราะไม่มีอะไรที่เห็นเป็นรูปธรรมเลย บทมันไม่เหมือนเมืองที่สร้างแล้วคนจะพอมองเห็น แต่นี่เป็นแค่เมืองคร่าวๆในหัว แต่ไม่เคยเห็นจริงๆว่านี่เลอะเทอะหรือเปล่า คุณต้องโหลดข้อมูลในหัวให้ได้ทุกวันว่าคุณจะไปถึงขีดไหน นี่เลยหรือยัง หรือยังไปไม่ถึง ที่ว่าใช่วันนี้มันใช่จริงหรือเปล่า บางคนเขาถึงติดโพสอิทหรือทำมายแมป แต่ผมไม่ค่อยทำเพราะขี้เกียจ ทุกอย่างมันเลยอยู่ในหัวหมด เลยเหมือนติดโพสอิทในหัวดีกว่าเร็วกว่า แต่ก็ยากในการรีโหลดมากกว่า”

บ้านแบบ เต๋อ นวพล ถ้าให้เลือกสักหลัง จะต้องมีอะไรอยู่ในนั้น

“เลือกแบบ “พับบลิค” และ “ไพรเวท” อย่างละครึ่งๆ งานผมมันทั้งต้องการโซนรับคนกับโซนหนึ่งคนคือตัวเอง ชอบที่ๆมีทั้ง 2 อย่างในเวลาเดียวกัน ถ้าไม่ใช่บ้านที่อยู่ติดถนนแต่มันจะต้องมีส่วนที่ไหลเวียนได้ตลอด ผมชอบพวกคอร์คบอร์ดที่มันมีความชั่วคราว ปีนี้เราก็จะติดภาพโปสเตอร์ประมาณนี้ ปีหน้าเราต้องเปลี่ยนภาพใหม่ เปลี่ยนมุมใหม่ ผมชอบที่ๆมันเป็นกึ่งแพลทฟอร์ม พื้นที่ตรงนั้นรองรับการเปลี่ยนใหม่ตลอดเวลา แต่ในอีกพาร์ทคือที่ๆไม่เปลี่ยน มาแล้วจะได้ความนิ่ง ความมั่นคง ได้ความเงียบแบบเดิมชัวร์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าโชคดีได้มุมที่แบบมองเห็นคนอื่นได้ด้วยก็จะดีมาก มีความเป็นโรงแรมนิดๆเหมือนกันนะ มองจากไกลๆ สูงๆ แล้วแบบเขาทำอะไรกันวะ ทำไมถึงหยุดคุยกัน”

wetransfer-f1940a/TerXNirvana_for%20block-06.jpg

สรุปแล้ว Make the most of your space ในแบบ เต๋อ นวพล คืออะไร

เป็นที่ๆเราสบายใจ ถามตัวเอง และตอบตัวเองได้ บางทีคนที่ทำห้องอะไรก็ตามจะมีเรฟเฟอเรนซ์ เพราะเราคิดว่าจะต้องเป็นแบบนั้น แต่บางทีมันไม่ใช่ มันไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้นก็ได้ มันควรเป็นที่ๆต้องไปกับฟังก์ชั่นของตัวเอง บางที่มันสวยแต่ไม่ฟังก์ชั่นมันก็ต้องยอมรับว่ามันไม่ได้ ในยุคนี้แล้วมันมีทางปรับให้มันเข้ากับวิถีชีวิตเรามากที่สุด คือซื้อโซฟามามันต้องนอนสบาย ไม่ต้องสวยก็ได้ แต่ถ้าสวยได้ก็จะดี คุณต้องรู้จักตัวเอง เป็นที่ๆทำให้เรารู้จักตัวเอง เรากลับมาแล้วจำได้ว่าตัวเองเป็นคนอย่างไร แล้วเราจะกลับมาเป็นตัวเองได้มากที่สุด ในวันที่เราทำอะไรมากๆ จนลืมว่าทุกวันนี้ทำอะไรอยู่กันแน่ มันควรกลับบ้านไปแล้วรู้ว่าเราเป็นคนแบบนี้ เราต้องกลับไปดูหน้าเซลฟ์ของตัวเองว่าเราเป็นคนอย่างไร ชอบแบบนี้ใช่ไหม ก็ทำแบบนี้แหละ บ้านคือที่ที่ไว้เก็บของที่เราไม่ต้องสนว่าใครจะคิดอย่างไร

เข้าใจตัวเอง รู้จักตัวเอง ไม่ว่าพาร์ทไหนของชีวิต พื้นที่ที่เราไปอยู่ก็จะบอกความเป็นตัวเราได้มากที่สุด Make the most of your space จึงไม่ทำให้เราหลงทาง ตอบได้ชัดเจนว่าอะไรที่ใช่และไม่ใช่ตัวเรา การสร้างงานที่ออกมาจากสเปซที่เรียกว่าบ้านหรือที่ทำงาน หรือไม่ว่าจะที่ไหน จึงมีจุดเชื่อมโยงที่สอดคล้องไปกับตัวตน ถ้าเราเป็นคนแบบนี้ เราจะเลือกอยู่ในพื้นที่แบบนี้

การเจาะลึกถึงสเปซของศิลปินผู้สร้างผลงาน จึงยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะนี่คือจุดเริ่มต้นของการค้นหา Make the most of your space ของศิลปินแต่ละท่าน เรายังมีภาคต่อไป แต่ศิลปินคนนั้นจะเป็นใคร ให้ตัวตนของคุณมาพบกับเราในพื้นที่นี้อีกครั้ง เร็วๆนี้

ขอบคุณคุณเต๋อ นวพล ธํารงรัตนฤทธิ์

#MakeTheMostOfYourSpace #NirvanaLivingRevolution #DetailsMakeMagic #NirvanaHome #NirvanaDaii

 

facebook-msn