Arata Isozaki สถาปนิกชาวญี่ปุ่น เจ้าของรางวัล Pritzker

ช่องทางอื่น ๆ

07/05/2019

Arata Isozaki สถาปนิกชาวญี่ปุ่นกับรางวัล Pritzker Prize สถาปนิกญี่ปุ่น-Arata-Isozaki

Arata Isozaki  (อาราตะ อิโซซากิ) คือสถาปนิกที่ได้รับรางวัล Pritzker Prize ในปี 2019 ถือว่าเป็นรางวัลอันทรงเกียรติแห่งวงการสถาปัตยกรรมของโลก เขาถูกจัดเป็นหนึ่งในสถาปนิกชาวญี่ปุ่นที่มีหัวคิดล้ำยุค โดยได้ฝากผลงานมากกว่า 100 โปรเจ็คทั่วโลก และยังได้รับยกย่องว่าเป็นผู้ที่เชื่อมโยงความเป็นโลกตะวันออกและตะวันตกไว้อย่างกลมกลืน

อะไรคือเบื้องหลังและแรงบันดาลใจที่ทำให้สถาปนิกชาวญี่ปุ่นอย่าง Arata Isozaki โดดเด่นเป็นที่ยอมรับในวงกว้างและเข้าตาคณะกรรมการตัดสิน Pritzker Prize วันนี้เรามีคำตอบมาฝากกัน

ความว่างเปล่าคือจุดเริ่มต้น

วัยเด็กของ สถาปนิกชาวญี่ปุ่นอย่าง Arata Isozaki อยู่ท่ามกลางซากปรักหักพังของอาคารบ้านเรือนที่ถูกทำลายจากการทิ้งระเบิดปรมาณูครั้งใหญ่ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ณ เมืองฮิโรชิมาซึ่งอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากบ้านเกิดเมืองโออิตะของเขา ความยากลำบากในเวลานั้นทำให้มุมมองต่อสถาปัตยกรรมของ Arata Isozaki ไม่ใช่สิ่งสวยงาม แต่คือความว่างเปล่าที่มาพร้อมกับคำถามว่า ‘ผู้คนจะสร้างบ้านและฟื้นฟูเมืองได้อย่างไร’

คำถามดังกล่าวกลายเป็นแรงผลักดันให้เขาตัดสินใจเดินทางเข้าสู่แวดวงสถาปนิกด้วยการเรียนจบด้านสถาปัตยกรรมจากมหาวิทยาลัยโตเกียวและเข้าทำงานกับ Kenzo Tange ผู้เป็น 1 ใน 8 สถาปนิกชาวญี่ปุ่นที่เคยได้รับรางวัล Pritzker Prize ที่สร้างอิทธิพลทางความคิดให้กับ Arata Isozaki สร้างสรรค์ผลงานแบบ Postmodernist ในเวลาต่อมา และหลังจากทำงานอยู่ 9 ปี เขาจึงตัดสินใจลาออกมาเปิดบริษัทของตัวเองในชื่อว่า Arata Isozaki & Associates

Art-Tower-Mito ผลงานของสถาปนิกญี่ปุ่น

Art Tower Mito, Japan | Photo by: Korall

สร้างเอกลักษณ์จากความไม่เหมือนกัน

เหล่าศิลปินและนักออกแบบต่างมีสไตล์เฉพาะตนและสะท้อนผ่านผลงานด้วย Signature บางอย่างที่เมื่อเราเห็นจะทราบได้ว่าเป็นผลงานของใคร แต่ผลงานของสถาปนิกชาวญี่ปุ่นอย่าง Arata Isozaki กลับมีเอกลักษณ์ที่เกิดจากความไม่เหมือนกันในแต่ละโปรเจ็ค อันเป็นผลจากการเก็บข้อมูลในพื้นที่ก่อสร้างอย่างละเอียดทั้งในแง่ของปรัชญา ทฤษฎี ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และสภาพสังคมปัจจุบัน ตลอดจนนิสัยที่ไม่ยึดติดในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง พร้อมปรับตัวตามความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด และมองว่าการสร้างสถาปัตยกรรมช่วยแก้ปัญหาสังคมได้ จึงทำให้สถาปัตยกรรมที่เขาออกแบบแต่ละช่วงเวลามีรูปร่างหน้าตาฉีกแนวกันตามแต่ละบริบท

ในช่วงเริ่มต้นอาชีพสถาปนิกที่ญี่ปุ่น งานดีไซน์ของ Arata Isozaki ส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจาก Kenzo Tange ในรูปแบบของMetabolism เช่น ห้องสมุดเมืองโออิตะ พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ในจังหวัดกุมมะ ต่อมาเมื่อได้ทำงานในระดับนานาชาติมากขึ้น เขาก็สามารถผสมผสานความร่วมสมัยของโลกตะวันออกและตะวันตกได้อย่างงดงาม ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยแห่งลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา อาคารของบริษัทอลิอันซ์ในเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ศูนย์ประชุมแห่งชาติในประเทศกาตาร์ และเซียงไฮ้ซิมโฟนีฮอลล์ สาธารณรัฐประชาชนจีน

นอกจากนี้ Arata Isozaki ยังมีไอเดียแบบ Avant-Gard Style ที่ล้ำสมัย แม้บางโปรเจ็คจะไม่ได้สร้างจริงแต่ก็แสดงให้เห็นถึงความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ที่ไร้ขีดจำกัดของเขา โดยเฉพาะการออกแบบผังเมืองย่านชินจุกุในโปรเจ็ค City In the Air ที่ออกแบบให้อาคารที่อยู่อาศัยและเส้นทางคมนาคมลอยตัวอยู่เหนือผังเมืองเดิมเพื่อรองรับการขยายตัวอย่างก้าวกระโดดของสังคมเมืองด้วยสถาปัตยกรรมที่ล้ำยุคอย่างมาก ส่วนโปรเจ็คที่ออกแบบแล้วสร้างขึ้นจริงก็มีมากมาย เช่น Art Tower Mito หอศิลป์ทรงสูงลักษณะบิดเกลียวด้วยแผ่นสามเหลี่ยมจำนวน 56 แผ่น อาคารแสดงคอนเสิร์ตแบบเป่าลม Ark Nova ที่สามารถเคลื่อนย้ายการติดตั้งไปยังที่ต่างๆ ได้ และพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ Domus ในประเทศสเปน โดดเด่นด้วยผนังกำแพงโค้งที่รับกับลมททะเล เป็นต้น

สถาปนิกญี่ปุ่น-Qatar-National-Convention-Center

Qatar National Convention Center | Photo by: Typhoonski/Dreamstime.com

พิสูจน์ฝีมือเก๋า คว้ารางวัลทรงเกียรติ

กว่า 6 ทศวรรษบนเส้นทางสถาปนิก Arata Isozakiได้พิสูจน์ฝีมือให้เป็นที่ประจักษ์ด้วยการรับรางวัลตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา อาทิ Annual Prize จาก Architectural Institute of Japan ในปี 1974 รางวัลเหรียญทอง RIBA Gold Medal ปี 1986 โดย Royal Institute of British Architects รางวัลเกียรติยศจาก American Institute of Architect ในปี 1992 และล่าสุดยังได้รับรางวัล Pritzker Prize ซึ่งถือเป็นรางวัลสูงสุดของวงการสถาปัตยกรรมโลก โดย Arata Isozaki ในวัย 87 นับเป็นสถาปนิกคนที่ 46 และเป็นชาวญี่ปุ่นคนที่ 8 ที่ได้รับรางวัลดังกล่าวนับตั้งแต่เริ่มมีการมอบรางวัลเมื่อปี 1979

‘Arata Isozaki คือผู้บุกเบิกที่เข้าใจความต้องการของงานสถาปัตยกรรมทั้งในระดับท้องถิ่นและสากล’เป็นหนึ่งในคำยกย่องจากคณะกรรมการตัดสินรางวัล Pritzker Prizeที่สะท้อนให้เห็นความสามารถในการใช้องค์ความรู้ทั้งหมดของเขาเพื่อสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมที่ยอดเยี่ยมและไม่เคยหยุดนิ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

ทั้งหมดนี้คงเป็นคำตอบได้แล้วว่า ทำไมสถาปนิกชาวญี่ปุ่นวัยเก๋าอย่าง Arata Isozaki ถึงได้ขึ้นทำเนียบสถาปนิกแถวหน้าของโลก ผู้ที่ไม่ได้มีแค่สมญานามว่า The Emperor of Japanese Architectureแต่ยังเป็นบุคคลสำคัญของโลกที่สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่า เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

ภาพทั้งหมดมาจาก www.pritzkerprize.com

#DetailsMakeMagic #Design #NirvanaHome #NirvanaDaii #NirvanaLivingRevolution #NaturalModern #PritzkerPrize2019 #ArataIsozaki

 

facebook-msn