รู้จัก Le Corbusier ไอดอลนักออกแบบ สถาปัตยกรรมในตำนาน
คนในแวดวงการออกแบบไม่มีใครไม่รู้จัก Le Corbusier เพราะเขาคือนักสร้างสรรค์ที่ผลิตผลงานไว้มากมายและบางอย่างก็ยังคงอยู่เป็นสมบัติที่ประเมินค่าไม่ได้ โดยเฉพาะงานออกแบบทางสถาปัตยกรรม 17 ชิ้นที่ได้รับการยกย่องจาก UNESCO ในฐานะเป็นมรดกโลกที่มีความพิเศษทางวัฒนธรรม สะท้อนให้ถึงการแก้ปัญหา ความท้าทาย และเทคนิคในการออกแบบสถาปัตยกรรมในช่วงศตวรรษที่ 20 หรือยุคโมเดิร์นได้เป็นอย่างดี อะไรคือเหตุผลที่ทำให้ Le Corbusier คือไอดอลแห่งงานดีไซน์ตลอดกาล วันนี้เนอวานามีคำตอบ
จุดเริ่มต้นของอัจฉริยะดีไซเนอร์
ชื่อ “Le Corbusier” ที่เรารู้จักกันทุกวันนี้แท้จริงแล้วเป็นเพียงนามแฝงที่ Charles-Edouard Jeanneret-Gris ใช้ในการสร้างผลงานตั้งแต่ปี 1920 โดยดัดแปลงมาจากชื่อของคุณตาว่า “Lecorbésier” ซึ่งเป็นความนิยมอย่างหนึ่งของเหล่าศิลปินในสมัยนั้นที่จะสลักชื่อสั้นๆ กับผลงานที่ตัวเองได้ทำ
Le Corbusier เป็นบุคคลที่มีพรสวรรค์ด้านศิลปะตั้งแต่ยังเด็ก ถึงแม้จะไม่ได้จบหลักสูตรสถาปัตยกรรมอย่างเป็นทางการ แต่ความพยายามเสาะหาความรู้จากการอ่าน เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ ฝึกฝีมือสเก็ตภาพอยู่เสมอทำให้ฉายแววความเป็นนักออกแบบตั้งแต่เยาว์วัย และด้วยอายุเพียง 20 ปีเขาก็สามารถดีไซน์บ้านหลังแรกเพื่อก่อสร้างในท้องถิ่นที่เขาอยู่อาศัยสำเร็จ หลังจากนั้น Le Corbusier ได้ออกเดินทางท่องเที่ยวในยุโรปกลางและแถบเมดิเตอเรเนียน รวมไปถึงอิตาลี เวียนา มิวนิค และปารีส และได้ร่วมฝึกงานกับสถาปนิกจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือ Auguste Perret ผู้บุกเบิกการก่อสร้างด้วยคอนกรีต และ Peter Behrens นักออกแบบและสถาปนิกที่มีความเชี่ยวชาญด้านเครื่องกลและอุตสาหกรรมในยุคใหม่ ซึ่งทั้งสองมีอิทธิพลต่อโลกทัศน์ในการออกแบบของ Le Corbusier ในเวลาต่อมาอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นการใช้คอนกรีตเปลือยในการทำโครงสร้างหลักของอาคาร และแนวคิดงานออกแบบที่มีเรื่องจักรกลเป็นพื้นฐานความคิด
ภาพจาก http://www.fondationlecorbusier.fr
บ้านที่ต้องตอบโจทย์การใช้งาน
Le Corbusier เป็นเจ้าพ่อฟังก์ชั่นเน้น “การใช้งาน” เป็นหัวใจสำคัญของการออกแบบดังประโยคที่เขาเคยพูดว่า “A House is a Machine for Living In” หมายถึงบ้านพักอาศัยควรสนองประโยชน์ใช้สอยอย่างแท้จริง โดยเขามองว่าบ้านเป็นเครื่องจักร เช่นเดียวกับรถยนต์ที่ชิ้นส่วนแต่ละชิ้นที่ผลิตขึ้นมานั้นมีหน้าที่ชัดเจน เมื่อใดก็ตามที่บ้านสร้างขึ้นจากชิ้นส่วนที่ทำหน้าที่ของตัวเอง เช่น มีแสงส่องผ่านเพื่อสุขอนามัย จัดสรรพื้นที่เพียงพอต่อไลฟ์สไตล์ หรือลำดับความสำคัญของเฟอร์นิเจอร์ได้อย่างดีเยี่ยมแล้ว บ้านหลังนั้นย่อมให้ความสะดวกสบายและสิ่งจำเป็นต่อผู้อยู่อาศัยได้โดยที่ไม่ต้องปรุงแต่งใดๆ อีก และฟังก์ชั่นภายในที่ลงตัวนี้เองจะส่งเสริมให้สถาปัตยกรรมที่แม้ก่อสร้างด้วยวัสดุที่เรียบง่ายดูโดดเด่นขึ้นมา
ตัวแทนความคิดข้างต้นที่เป็นรูปธรรมที่สุดคงต้องยกให้บ้านในอุดมคติอย่าง La Villa Savoye ย่านชานเมืองปารีส 1 ใน 17 ผลงานออกแบบซิกเนเจอร์ของ Le Corbusier ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกกับ UNESCO และเป็นต้นกำเนิด The Five Points of a New Architecture ประกอบด้วย 1.) บ้านยกพื้นสูง (Pilotis) จัดผังพื้นที่ใช้สอยให้ทุกห้องเชื่อมต่อกันและใช้เพียงผนังลอยเพื่อกั้นสัดส่วน (Free Plan) ผนังด้านนอก 2.) เป็นอิสระไม่ต้องรับน้ำหนัก (Free Facade) หน้าต่างบานใหญ่แนวนอน (Ribbon Windows) 3.) ทำหลังคาแบน (Ribbon Windows) เพื่อประโยชน์ใช้สอยอื่นๆ เช่น สวนบนหลังคา (Roof Garden) ซึ่งกฎดังกล่าวได้กลายเป็นบทเรียนและคัมภีร์ออกแบบบ้านสไตล์โมเดิร์นสำหรับสถาปนิกรุ่นต่อมา
ภาพจาก http://www.fondationlecorbusier.fr
ออกแบบให้พอดี
นอกจาก 5 ลักษณะของสถาปัตยกรรมโมเดิร์นแล้ว Le Corbusier ยังเป็นต้นตำรับทฏษฎี Le Modulor หรือหลักความสอดคล้องของสัดส่วนมนุษย์ (Human scale) เพื่อกำหนดสเกลของสิ่งต่างๆ ในงานสถาปัตยกรรมให้เกิดความพอดี ตั้งแต่ขนาดของบ้านที่เหมาะสมกับผู้อยู่อาศัย ระยะการหยิบจับสิ่งของหรือตำแหน่งของเฟอร์นิเจอร์ภายในบ้าน ไปจนถึงการกำหนดสัดส่วนของพื้นที่เพื่อให้เกิดฟังก์ชั่นที่ตอบวัตถุประสงค์การใช้งานของสถานที่นั้นและการอยู่ร่วมกันในสังคม
ภาพจาก http://www.fondationlecorbusier.fr
Le Corbusier ยังใช้หลัก Le Modulor ในการออกแบบเฟอร์นิเจอร์สมัยใหม่ที่มีความพอดีกับการใช้งานอย่างเก้าอี้เอนหลัง LC4 ที่เขาออกแบบร่วมกับ Pierre Jeanneret และ Charlotte Perroand โดยให้ความสำคัญกับรูปร่างของมนุษย์เพื่อเชื่อมโยงรูปแบบและฟังก์ชั่นในการสร้างความสมดุลและความเสถียร ที่ไม่ว่าจะใช้เก้าอี้ในองศาใดก็ล้วนแต่สบายผ่อนคลายอารมณ์ทั้งสิ้น
สำหรับ Le Corbusier แล้ว ความโมเดิร์นไม่ใช่เรื่องของแฟชั่น แต่คือการศึกษาเบื้องลึกเบื้องหลังในสิ่งที่จะออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นอาคารบ้านเรือน เฟอร์นิเจอร์ หรือผังเมือง โดยต้องทำความเข้าใจตั้งแต่พื้นฐานธรรมชาติ เป้าหมายที่ต้องการ ไปจนถึงความสัมพันธ์ของบริบท เพื่อค้นพบความต่อเนื่องระหว่างสิ่งที่เคยเป็น สิ่งที่เป็นอยู่ และสิ่งที่จะเป็น ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญในการออกแบบที่ดีหรือสร้างฟังก์ชั่นที่มีประสิทธิภาพ ด้วยแนวคิดที่เป็นตรรกะและมีทฤษฎีปฏิบัติตามได้เช่นนี้เอง จึงทำให้ Le Corbusier คือไอดอลนักออกแบบที่เหล่าดีไซเนอร์รุ่นหลังต่างยกย่องชื่นชมอย่างหมดหัวใจ
#NirvanaLivingRevolution #RevolutionOfModernDesign #NaturalModern