Ole Scheeren สถาปนิกผู้เล่าเรื่องผ่านสถาปัตยกรรม
Ole Scheeren อาจเป็นชื่อที่ไม่คุ้นหู แต่หากบอกว่าเขาคือผู้ออกแบบตึกระฟ้าใจกลางกรุงเทพฯ อย่าง “มหานคร” หลายคนคงถึงบางอ้อ และพอจะเดาความสามารถในการออกแบบสถาปัตยกรรมที่ล้ำสมัยของเขาได้ นอกจากทัศนะสุดสร้างสรรค์แล้ว สถาปนิกหนุ่มชาวเยอรมันคนนี้ยังมากด้วยกระบวนการคิดเชิงวิพากษ์เพื่อขยายขอบเขตการทำงานได้กว่าสถาปัตยกรรมทั่วไป จนทำให้แต่ละโปรเจ็คตอบโจทย์ทั้งดีไซน์และฟังก์ชั่นตามความต้องการของผู้ใช้อาคารอย่างสูงสุด
Form Follows Fiction
นานกว่าศตวรรษที่มนต์ขลังของ Form Follows Function อยู่คู่กับสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ แต่ Ole Scheeren กลับมองว่าแนวคิดนี้แคบเกินไปและเขาเลือกที่จะเปลี่ยน Function เป็น Fiction เพื่อนำเรื่องราวมาเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบ และนำเสนอความต่างอย่างมีคุณภาพ โดยเขาเชื่อว่าการนึกถึงเรื่องราวของผู้คนที่จะอยู่อาศัยหรือเข้ามาทำงาน ณ ที่แห่งนั้นไม่ใช่แค่จินตนาการแบบในนิยายทั่วไป แต่คือความจริงที่นำไปสู่การสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมหรืออาคารที่ใช้ประโยชน์ได้สูงสุด
Ole Scheeren มักตั้งคำถามกับโจทย์ที่ลูกค้าให้เสมอว่า พื้นที่เหล่านั้นจะใช้งานอย่างไร คนทำงานจะนั่งแบบไหน ต้องการ Collaboration กับใครบ้าง สร้างคุณภาพชีวิตและสภาพแวดล้อมให้กับผู้อยู่อาศัยได้ดีแค่ไหน หรือแม้กระทั่งการพิจารณาว่าสเปซเหล่านั้นอยู่ท่ามกลางสังคมวัฒนธรรมอย่างไรในปัจจุบันและแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงในอนาคต เพื่อวิเคราะห์หาจุดร่วมกันระหว่างความจริงทางกายภาพกับความเป็นไปได้ทางความคิด
จากนั้นจึงจัดการเล่าเรื่องใหม่หรือที่สถาปนิกหนุ่มเรียกว่า “Narrative hybrids” โดยนำเรื่องราวในแต่ละส่วนทั้งข้อมูลพื้นฐานที่ทำการบ้านมาอย่างดี พฤติกรรมของผู้ใช้งานอาคารในอนาคต และไอเดียการออกแบบสถาปัตยกรรมมาเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน พร้อมทั้งปรับปรุงพัฒนาจนได้ระบบความสัมพันธ์เชิงซับซ้อนที่ครอบคลุมทั้งการบริหารจัดการ ฟังก์ชั่นใช้สอย การสร้างประสบการณ์ การแสดงออกทางอารมณ์ และการมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมรอบข้างอย่างมีประสิทธิภาพ
ผลงานเล่าความสำเร็จ
Ole Scheeren พูดในเวทีทอล์กโชว์ TED ถึงการทำงานที่ภาคภูมิใจเมื่อครั้งยังร่วมงานกับ Rem Koolhaas ในการพัฒนาออกแบบอาคารสำนักงานใหญ่ของสถานีวิทยุโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน หรือ CCTV ว่าในเวลานั้นเขามีแค่ข้อมูลผังเมืองที่บอกเพียงว่าใจกลางย่านธุรกิจแห่งนี้จะกลายป่าคอนกรีตที่เต็มไปด้วยตึกสูง และภาพแว่บแรกที่เขานึกถึงคือรูปทรงตึกแนวตั้งที่ยิ่งมีชั้นสูงมากเท่าไรยิ่งมีค่าเท่านั้น ซึ่ง Ole Scheeren ไม่พิสมัยเอาเสียเลยเพราะความดาษดื่นและมีนัยของการแบ่งแยกชนชั้น
เขาจึงเริ่มคิดว่าจะทำอย่างไรให้ทุกคนที่อยู่ในตึกสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างเท่าเทียม ขณะเดียวกันสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นต้องทำหน้าที่มากกว่าแค่การใช้สอย แต่เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนปักกิ่งได้ด้วย ซึ่งในกระบวนการทำงานออกแบบ Ole Scheeren ยังได้จำลองตัวละครขึ้นเพื่อศึกษาพฤติกรรมและประสบการณ์ในการใช้อาคารหลังนี้ และแน่นอนว่าข้อมูลเหล่านี้ถูกเปลี่ยนเป็นสคริปต์เพื่อถ่ายทอดเป็นผลงานสุดล้ำของศตวรรษที่ 21 และทำให้ตึก CCTV กลายเป็นแลนด์มาร์คสำคัญของมหานครปักกิ่งจวบจนปัจจุบัน
อีกหนึ่งโปรเจ็คสร้างชื่อให้ Ole Scheeren และตอกย้ำวิธีการคิดแบบ Form Follows Fiction คือการออกแบบ The Interlace โครงการอสังหาริมทรัพย์ที่สร้างสุขภาวะให้กับผู้อยู่อาศัยในฐานะ Wellness lifestyle real estate and community ชื่อดังของโลกในประเทศสิงคโปร์ โดยสถาปนิกหนุ่มยังคงร้อยเรียงเรื่องราวการใช้ชีวิตจริงๆ ของผู้คนที่ต้องการธรรมชาติ ความสะดวกสบาย คุณภาพชีวิตที่ดี และความยั่งยืนเพื่อขยายขอบเขตงานดีไซน์ให้โดดเด่นและเกิดประโยชน์สูงสุดทั้งในแง่ของผู้ใช้อาคาร ขนาดพื้นที่ และสิ่งแวดล้อม
โครงการ The Interlace จึงเต็มไปด้วยเรื่องราวชวนว้าวตั้งแต่รูปแบบอาคารแนวนอนวางซ้อนกันไปมาอย่างสมดุล ส่งผลให้แต่ละยูนิตมีพื้นที่ส่วนตัว รับประโยชน์จากธรรมชาติอย่างแสงแดด ร่มเงา และสายลมให้เข้ามาโอบกอดเต็มที่ ทำให้อยู่สบายไม่ว่าฤดูกาลไหน นอกจากนี้ยังมีต้นไม้ประดับรายล้อมอย่างเข้าใจในความต้องการของมนุษย์ สิ่งอำนวยความสะดวกที่ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดี รวมถึงพื้นที่ที่ช่วยกระชับความสัมพันธ์ของคนในชุมชนให้เข้าใจและเป็นหนึ่งเดียวกัน ด้วยปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมาทำให้โปรเจ็คนี้คว้ารางวัล World Building of the Year Award 2015 และเป็นหนึ่งในไฮไลท์แนะนำการท่องเที่ยวจากประเทศสิงคโปร์ด้วย
สำหรับ Ole Scheeren อาจกล่าวได้ว่าการเข้าถึงพื้นที่และเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของผู้อยู่อาศัยหรือผู้ใช้อาคาร คือคีย์สำคัญที่ใช้ในการไขความลับด้านการออกแบบงานสถาปัตยกรรม และตัวเขาเองก็เชี่ยวชาญมากพอที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาต่อยอด เชื่อมโยง และเขียนเป็นเรื่องราวตามสไตล์ของสถาปนิกที่ใช้ลายเส้นและวัสดุก่อสร้างเป็นตัวรังสรรค์ให้งานออกแบบในกระดาษกลายเป็นสถาปัตยกรรมใหญ่โตที่มอบประสบการณ์หลากหลายให้กับผู้คนที่เคยมาเยือน
อ่านบทความ le corbusier เพื่อติดตามบทความเกี่ยวกับการออกแบบที่การใช้งานเป็นหัวใจสำคัญของการออกแบบได้ที่นี่ |
#DetailsMakeMagic #Design #NirvanaHome #NirvanaDaii #NirvanaLivingRevolution #NaturalModern