ปลูกต้นไม้ดักจับฝุ่นละออง PM 2.5 ลดมลพิษเพื่อคนที่เรารัก
ต้นไม้คือสิ่งมีชีวิตน่ามหัศจรรย์ที่มอบคุณประโยชน์นานัปการให้กับโลกและมนุษย์ ในเดือนแห่งความรักเช่นนี้ บ้านเนอวานาจึงอยากชวนทุกคนร่วมกันปลูกต้นไม้ช่วยดักจับฝุ่นละออง PM 2.5 ภายในบริเวณบ้านของตัวเอง เพื่อส่งมอบของขวัญสุดพิเศษให้กับโลกและคนที่รักได้สัมผัสกับความสดชื่น เติมเต็มพลังเพื่อการมีชีวิตที่ดีในอนาคต โดยเฉพาะในวันที่โลกเราเผชิญวิกฤติทางอากาศ
พบประโยชน์ของต้นไม้ดักจับฝุ่นที่มีคุณสมบัติลด Particulate Matter และลิสต์พันธุ์ไม้ที่ผ่านการทดสอบแล้วว่ามีประสิทธิภาพในการดักจับฝุ่น เพื่อเราทุกคนจะได้ลงมือจัดการมลภาวะทางอากาศในเบื้องต้นด้วยตัวเอง
ปลูกต้นไม้ดักจับฝุ่น บอกรักคนที่คุณรักได้
ต้นไม้เป็นสิ่งมีชีวิตที่สัมพันธ์กับมนุษย์โดยตรง เพราะเป็นผู้มอบก๊าซออกซิเจนที่จำเป็นต่อการหายใจและดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้ ทั้งมนุษย์ สัตว์ และแม้แต่พืชพรรณด้วยกันเอง ช่วยการหมุนเวียนออกซิเจนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยเฉพาะในช่วงกระบวนการผลิตอาหารหรือการสังเคราะห์แสงที่ต้นไม้จะดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศเอาไว้ร่วมกับน้ำ ธาตุอาหารในดิน และแสงแดด ก่อนจะเปลี่ยนเป็นสารอาหารหล่อเลี้ยงตัวเอง พร้อมๆ กับปลดปล่อยก๊าซออกซิเจนออกมา ซึ่งต้นไม้ใหญ่ อาทิ ต้นยางนา ต้นพระยาสัตบรรณ เพียง 1 ต้น ก็สามารถรองรับความต้องการก๊าซออกซิเจนของมนุษย์ได้ถึง 2 คน/ปี เลยทีเดียว
ไม่เพียงแต่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่านั้น แต่ต้นไม้ยังช่วยดักจับฝุ่นละอองในอากาศที่ปลิวว่อนให้มาติดค้างอยู่บนผิวใบหรือร่องเล็กร่องน้อยของลำต้น เมื่อฝนตกหรือต้นไม้ถูกรดน้ำ ฝุ่นเหล่านั้นก็จะถูกชะล้างลงดินแทนที่จะลอยค้างในอากาศและสร้างอันตรายให้กับระบบทางเดินหายใจของสิ่งมีชีวิต งานวิจัยของมหาวิทยาลัยแลงคาเตอร์ในประเทศอังกฤษได้ทดลองปลูกต้นซิลเวอร์เบิร์ชจำนวน 30 ต้นที่หน้าบ้าน 4 หลัง ส่วนอีก 4 หลังไม่มีต้นไม้ใดๆ เมื่อผ่านไป 13 วัน ทีมวิจัยได้เช็ดทำความสะอาดบ้าน พบว่าบ้านที่อยู่หลังแนวต้นไม้มีความเข้มข้นของอนุภาคขนาดเล็กสะสมน้อยกว่า 52-65% เมื่อเทียบกับบ้านที่ไร้กำแพงต้นไม้ และกว่า 50% ที่ลดลงคือฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ต้นไม้ช่วยดักจับไว้ได้ อย่าง PM1 PM2.5 และ PM10
รวมต้นไม้น่าปลูกไว้ดักจับฝุ่นละออง PM 2.5
ตามธรรมชาติของพืชและต้นไม้แทบทุกชนิดล้วนมีคุณสมบัติเป็นตัวกรองฝุ่นและดักจับอนุภาคมลพิษบางชนิดได้ เช่น ฝุ่น ควัน ไอพิษต่างๆ แต่หากต้องการต้นไม้ที่ช่วยกักเก็บลดฝุ่นละอองขนาดจิ๋วเพิ่มขึ้น ควรเลือกปลูกพันธุ์พืชที่มีลักษณะใบเรียวเล็ก ผิวหยาบ มีขน และเหนียว ลำต้นและกิ่งก้านมีลักษณะพันกันอย่างซับซ้อน รวมไปถึงชนิดของต้นไม้ควรเป็นแบบไม่ผลัดใบและมีพุ่มใบขนาดเล็กจำนวนมากก็จะมีประสิทธิภาพในการดักจับฝุ่นละอองได้สูงกว่าต้นไม้ผลัดใบและมีใบขนาดใหญ่
นอกจากนี้ งานวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร Atmospheric Environment ยังระบุว่าต้นไม้ชนิดยืนต้นนั้นเหมาะกับการควบคุมมลพิษทางอากาศในพื้นที่เปิดโล่ง ส่วนไม้พุ่มทรงเตี้ยจะเหมาะกับพื้นที่เมืองที่เต็มไปด้วยอาคารบ้านเรือนมากกว่า เพราะความสูงของต้นจะอยู่ในระดับที่ไม่แตกต่างจากระดับถนนหรือควันจากท่อไอเสียรถ จึงทำให้ไม้พุ่มสามารถดูดซับสารพิษได้อย่างรวดเร็วหลังรถขับขี่ผ่านไปไม่นาน ซึ่งเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ที่อยู่ในตัวอาคารบ้านเรือนได้รับสารพิษอันตราย
สำหรับลิสต์พันธุ์ไม้ที่ผ่านการทดสอบแล้วว่ามีประสิทธิภาพในการดักจับฝุ่นมีหลายชนิดด้วยกัน เช่น การเปิดเผยข้อมูลการศึกษาพืช 35 ชนิดของคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยกรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลเมื่อเร็วๆ นี้ พบว่า
ต้นไม้ยืนต้นที่ช่วยดักจับฝุ่นสูงที่สุดในกลุ่มพรรณพืช
- ตะขบฝรั่ง
- เสลา
- จามจุรี
- แคแสด (ในภาพ)
- ไม้พุ่มทองอุไร
ในขณะที่งานวิจัยเชิงทดลองของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรื่องการศึกษาเปรียบเทียบความสามารถในการจับฝุ่นละอองของ
ไม้เลื้อยที่คุณสมบัติทางกายภาพของใบแตกต่างกัน และได้สรุปออกมาว่า
พรรณต้นไม้เลื้อยที่สามารถดักจับฝุ่นได้มากที่สุด 3 ชนิด
- ต้นสร้อยอินทนิล ผิวใบสากมีขน ซึ่งสามารถดักจับฝุ่นได้มากที่สุด
- ต้นตำลึง ผิวใบด้าน
- ต้นจันทน์กระจ่างฟ้า ผิวใบมัน
จะเห็นว่าต้นสร้อยอินทนิลสามารถดักจับฝุ่นได้ดี เนื่องจากมีพื้นผิวใบที่สากและหยาบทำให้เกิดแรงเสียดทานสูง และการเรียงตัวของชั้นใบที่ปกคลุมมากทำให้มีช่องว่างในแผงไม้เลื้อยน้อย จึงดักกรองฝุ่นละอองได้ดีนั่นเอง
ตำแหน่งการปลูกต้นไม้ดักจับฝุ่นในบริเวณบ้าน
การนำพืชพรรณต้นไม้ที่มีคุณสมบัติดูดฝุ่นเหล่านี้มาปลูกภายในบริเวณบ้าน ควรเลือกตำแหน่งให้เหมาะสม ตามประเภทดังนี้
ไม้ยืนต้น
ควรปลูกให้ห่างจากตัวบ้านและรั้วไม่น้อยกว่า 2 เมตร เพื่อป้องกันไม่ให้รากดันโครงสร้างที่อยู่ด้านล่างเสียหาย
พันธุ์ไม้เลื่อยและไม้พุ่มเตี้ย
สามารถปลูกไว้ที่รั้วบ้านหรือทำเป็นแนวใกล้ช่องเปิดของบ้านที่อยู่ทิศใต้หรือจุดที่มีลมพัดเข้าอาคารก็จะช่วยดักจับฝุ่นขนาดเล็กที่มุ้งลวดไม่สามารถป้องกันได้อีกชั้นหนึ่ง
การปลูกต้นไม้ที่ช่วยดูดฝุ่นละอองไม่ได้เป็นเพียงแค่แผ่นกรองจากธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังเป็นวิธีเพิ่มออกซิเจน ยกระดับคุณภาพอากาศหายใจ แต่งแต้มความสวยงามให้กับอาคารบ้านเรือน คืนความร่มเย็นให้กับการอยู่อาศัย และที่สำคัญคือ ได้มอบคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับตัวเราเอง คนที่รัก และโลกใบนี้อย่างยั่งยืน