Bjarke Ingels สถาปนิกอายุน้อยที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในศตวรรษที่ 21 
ข้อมูลรีเสิร์ชที่ใช้ได้บ้างไม่ได้บ้าง ภาพสเก็ตที่จับอันนั้นผสมอันนี้จำนวนมาก และโมเดลนับร้อยๆ ชิ้น ทั้งหมดไม่ต่างจากงานทดลองเชิงสถาปัตย์ที่ทำให้ Bjarke Ingels (บีอาร์ก อินเกิลส์) กลายเป็นสถาปนิกหนุ่มอายุน้อยที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในศตวรรษที่ 21
มารู้จักกับคลื่นลูกใหม่แห่งวงการสถาปัตยกรรม ผู้กล้าคิดต่างและสร้างสรรค์ผลงานสุดโมเดิร์น สะท้อนการพัฒนาด้านความสุขอย่างยั่งยืน (Hedonistic Sustainability) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต กับโปรเจ็คก่อสร้างที่ใครได้เห็นต้องร้องว้าว
Bjarke Ingels สถาปนิกรุ่นใหม่ ฝีมือเก๋า เจ้าของปรัชญา Yes is More
ในแวดวงงานดีไซน์สไตล์ Modern เรามักได้ยินคำว่า Less is more แต่สำหรับ Bjarke Ingels (บีอาร์ก อินเกิลส์) สถาปนิกหนุ่มชาวเดนมาร์กที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในวัยเพียง 44 ปี กลับเลือกแตกต่างด้วยปรัชญาการทำงานแบบ “Yes is More” ที่พร้อมเซย์เยสให้ทุกความต้องการเพื่อนำไปสู่การปฏิวัติสิ่งที่ดีกว่า การไม่ปฏิเสธในทันทีเมื่อได้รับความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะทำให้บีอาร์ก อินเกิลส์ ได้ทดลองอะไรใหม่ๆ อยู่เสมอและกลายเป็นต้นทุนสำคัญที่ทำให้ผลงานการออกแบบของเขาขึ้นชื่อติดอันดับต้นๆ ของโลก โดยเฉพาะงานสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน (Sustainable Development) และแนวคิดทางสังคมวิทยา (Sociological Concept)
ความสามารถด้านศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ของ Bjarke Ingels แสดงออกมาตั้งแต่สมัยเด็กด้วยการวาดรูปและฝันอยากเป็นนักวาดการ์ตูน แต่พ่อแม่ของเขามองการณ์ไกลกว่านั้น ส่งเสริมให้เรียนด้านการออกแบบซึ่งก็ไม่ผิดหวังเพราะบีอาร์ก อินเกิลส์สามารถสำเร็จการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมได้ที่ Technica Superior de Arquitectura ณ เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน และเข้าทำงานกับ OMA ของ Rem Koolhaas ก่อนออกมาตั้งบริษัท PLOT Architect ร่วมกับเพื่อน และแยกตัวมาทำบริษัทของเขาเองในชื่อ Bjarke Ingels Group หรือ BIG
VM Houses | Photo by: Fred Romero
Bjarke Ingels สร้างสรรค์จากสิ่งที่มีเพื่อความยั่งยืน
อาจกล่าวได้ว่างานออกแบบของ Bjarke Ingels อยู่บนพื้นฐานความเป็นไปได้และยึดเอาความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ที่จะมีความสุขอย่างยั่งยืน (Hedonistic Sustainability) มาเป็นกรอบความคิดหลักและต่อยอดไปตามสภาพหรือข้อจำกัดที่เกิดขึ้นจริงของไซต์งานนั้นๆ เพื่อสร้างความกลมกลืนกันระหว่างสิ่งก่อสร้างและสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำให้เห็นอีกหนึ่งมุมมองของการปกป้องสิ่งแวดล้อมที่เราไม่จำเป็นต้องตั้งป้อมกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเสมอไป แต่คือการใช้ประโยชน์ร่วมกันเพื่อสร้างสังคมที่น่าอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ดี
ความคิดสร้างสรรค์เช่นนี้ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นชิ้นงานสถาปัตยกรรมมากมาย เริ่มตั้งแต่ VM Housesในเมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก มีลักษณะเด่นที่อาคารรูปตัว V และ M วางขนานกันแทนรูปแบบอาคารเดิมๆ ที่มักเป็นตัว I นอกจากให้มุมมองใหม่ในการใช้งานแล้ว ผังของอาคารทั้งสองยังเอื้อประโยชน์ต่อกันและกัน โดยเฉพาะเรื่องการระบายอากาศและแสงเงาตามธรรมชาติที่ให้ทั้งส่องสว่างและหลบร้อนได้อย่างดี ซึ่งผลงานชิ้นนี้ยังได้รับรางวัลจาก the best building in Scandinavia in 2006 จาก Forum AID Award ด้วย
Homes for All | Photo Courtesy of Bjarke Ingels Group
Bjarke Ingels กับงานออกแบบ Homes for All - Dortheavej Residence
ผลงานของ Bjarke Ingels ที่สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างคน สถาปัตยกรรม พื้นที่สาธารณะ และข้อจำกัดด้านงบประมาณการก่อสร้างเนื่องจากเจ้าของโปรเจ็คคือองค์กรไม่แสวงหากำไร โดยบีอาร์ก อินเกิลส์ใช้โครงสร้างแบบโมดูล่าร์เพื่อให้งานก่อสร้างคล่องตัว วางเรียงสลับลดหลั่นเพื่อสร้างร่มเงาตามธรรมชาติ โดยใช้วัสดุก่อสร้างที่ราคาไม่แพงและลดการตกแต่งที่ไม่จำเป็น แต่ยังคงไว้ด้วยฟังก์ชั่นใช้สอยที่สะดวกสบาย ทั้งยังมีฝ้าสูง 3.5 เมตร และมีผนังกระจกขนาดใหญ่ทุกห้องเพื่อรับแสงธรรมชาติและวิวรอบข้าง
อีกหนึ่งโปรเจ็คของ Bjarke Ingels ที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ VIA 57 West ตั้งอยู่ใจกลางมหานครนิวยอร์ก เป็นการออกแบบลูกผสมระหว่างอาคารบล็อกที่อยู่อาศัยแบบยุโรปกับตึกสูงระฟ้าแบบอเมริกันทำให้ลักษณะอาคารถูกตัดเฉียง เมื่อมองจากมุมหนึ่งจะเห็นเป็นทรง Hyperbolic Paraboloid หรือทรงปิรามิดที่ดูบิดเบี้ยว แต่หากมองอีกมุมจะเห็นเป็นสามเหลี่ยมยอดแหลม ซึ่งรูปทรงที่แปลกตานี้ยังช่วยให้พื้นที่สีเขียวตรงกลางได้รับแสงอาทิตย์อย่างเพียงพอและทำหน้าที่เป็นโอเอซิสสำหรับผู้อยู่อาศัยทุกยูนิตได้พักผ่อนและพักความวุ่นวายจากเมืองที่ไม่เคยหลับใหลได้อีกด้วย
เรียกว่าเป็นความกล้าบ้าบิ่นในการฉีกทุกกฎการดีไซน์ให้ออกมาสวยงามและสร้างสรรค์ที่สุดสำหรับสถาปนิกรุ่นใหม่ไฟแรงอย่าง Bjarke Ingels จึงไม่น่าแปลกใจที่เขาจะได้รับการยกย่องให้เป็น Innovator of the Year ด้านสถาปัตยกรรมจากหนังสือพิมพ์ Wall Street Journal และจัดถูกจัดเป็น 1 ใน 100 บุคคลที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในปี 2016 จากนิตยสาร Timeพร้อมทั้งโปรเจ็คอีกมากมายที่รอให้เขาได้แสดงฝีมือเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับโลกใบนี้
Le Corbusier ผลงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์สมัยใหม่ที่มีความพอดีกับการใช้งาน คืออะไร อ่านต่อได้ที่นี่ |
#DetailsMakeMagic #Design #NirvanaHome #NirvanaDaii#NirvanaLivingRevolution #NaturalModern