‘Louis Kahn’ สถาปนิกแห่งแสง ผู้นำเอาคุณค่าของแสงและเงามารังสรรค์สถาปัตยกรรมสมัยใหม่
คุณค่าของแสงและเงา ไม่ได้อยู่เพียงงานทัศนศิลป์เท่านั้น แต่พลังแห่งแสงสว่างยังเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างสรรค์ความงามให้แก่การออกแบบอาคารอีกด้วย โดยเฉพาะผลงานของ Louis Kahn สถาปนิกที่ได้รับฉายาว่าเป็น “สถาปนิกแห่งแสง” ผู้เป็นปรมาจารย์ด้านการนำแสงธรรมชาติมาใช้ในงานออกแบบ พร้อมกับการจัดการ Mass & Void ด้วยชั้นเชิงแห่งศาสตร์และศิลป์จนกลายเป็น DNA ของสถาปัตยกรรมในสไตล์ Louis Kahn ที่ทรงอิทธิพลต่อสถาปนิกยุคโมเดิร์น
Photo: Phillips Exeter Academy, Exeter, New Hampshire | Iwan Baan
ปฐมบทแห่งแรงบันดาลใจของสถาปนิกแห่งแสง
ต้นฉบับที่สอนให้ Louis Kahn สถาปนิกแห่งแสง มองเห็นความสำคัญของแสงธรรมชาติในมุมมองที่แตกต่างจากคนอื่นๆ คือสถาปัตยกรรมยุคกรีกโบราณที่เขาได้ร่ำเรียนผ่านตัวอักษรสมัยอยู่มหาวิทยาลัย และไปสัมผัสซากปรักหักพังเหล่านั้นด้วยตัวเองในช่วงปี ค.ศ.1950 โดยเขาพบว่าบริเวณที่มีเสาตั้งตระหง่านนั้นจะไม่มีแสงใดๆ ส่องผ่าน ส่วนช่องว่างระหว่างเสาคือพื้นที่สำหรับแสงสว่าง ปรากฏการณ์เช่นนี้สร้างจังหวะของการมีและไม่มีแสงสลับกันไป สะท้อนนัยบางอย่างซึ่งในแววตาแห่งศิลปินของ Louis Kahn สามารถรับรู้ได้มากกว่าแสงสว่างทางกายภาพ แต่เป็นสัญลักษณ์ทางธรรมชาติที่เปรียบเปรยได้กับงานศิลปะหรือบทกวีที่มีจิตวิญญาณแฝงอยู่ ซึ่งต่อมาเขาได้ใช้เป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนารูปแบบสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานระหว่างสมัยใหม่และสมัยโบราณเข้าไว้ด้วยกัน
นอกจากหลงใหลในอารยธรรมโบราณอย่างกรีก โรมัน และอียิปต์แล้ว การเติบโตในเมืองใหญ่อย่างฟิลาเดลเฟียที่เต็มไปด้วยผู้คนและความเจริญจากภาคอุตสาหกรรม มีทั้งโรงงานและตึกรามบ้านช่องก่ออิฐแข็งแรงออกแนว Industrial design ก็สร้างอิทธิพลทางการออกแบบให้กับ Louis Kahn โดยเฉพาะการให้ความสนใจต่อ Look & Feel ของวัสดุเพื่อดึงศักยภาพวัสดุนั้นๆ ออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่
งานออกแบบส่วนใหญ่ของสถาปนิกแห่งแสงอย่าง Louis Kahn จะจะใช้อิฐและคอนกรีตในการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมผ่านรูปทรงเรขาคณิตทั้งสี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม และวงกลม โดยจัดวางซ้อนกันเป็นชั้น (Layer) เพื่อให้เกิดจังหวะของแสงสว่างและเงามืดอย่างเป็นธรรมชาติและสร้างประสบการณ์ให้กับผู้ใช้งานด้วยอารมณ์ความรู้สึกที่แตกต่างจากอาคารทั่วไป จนอาจกล่าวได้ว่าการเลือกวัสดุหรือโครงสร้างสถาปัตยกรรม คือการตัดสินใจเพื่อตอบสนองแก่แสงธรรมชาติและบริบทสิ่งแวดล้อมในบริเวณนั้น
Photo: Salk Institute for Biological Studies, La Jolla, California | cdrin/shutterstock.com
แสงและเงา องค์ประกอบแห่งความเกื้อกูล
ในปรัชญาของ Louis Kahn แสงธรรมชาติคือ "ผู้ให้ทุกสิ่งที่มีอยู่" และเชื่อว่าสรรพสิ่งในธรรมชาติ ไม่ว่าภูเขา ลำธาร อากาศ ล้วนได้รับพลังจากแสงและหล่อหลอมจนเป็นวัสดุต่าง ๆ ที่มาพร้อมหน้าที่ในการสะท้อนเงามืด หรือเป็นความสัมพันธ์ที่เรียบง่ายอย่าง “แสงทำให้เกิดเงา และเงาเกิดจากแสง” นั่นเอง
Louis Kahn ตระหนักดีว่าเงามืดคือส่วนหนึ่งของความสว่างไสว ดังนั้นเขาจึงไม่เคยออกแบบให้พื้นที่ใด ๆ มืดสนิทเลย และยังกล่าวด้วยว่า “แม้ในห้องนั้นจะมืดเพียงใด อย่างน้อยต้องมีช่องให้แสงลอดผ่านเพื่อจะได้รู้ว่าความมืดนั้นเป็นอย่างไร” เพราะ การปรากฏของแสงเพียงแวบหนึ่งสามารถอธิบายระดับความมืดได้ คือทำให้เกิดเฉดความเข้มอ่อนของสีดำที่มีความเชื่อมโยงใกล้ชิดกับจิตวิทยาถึงความเงียบงัน ความไม่แน่นอน และอันตรายที่ทำให้เกิดความกลัวในหัวใจ ซึ่ง Louis Kahn ใช้เป็นอาวุธลับในการสร้างสรรค์สเปซ โดยอาศัยความลึกลับของเงาดำสร้างเรื่องราวให้สถาปัตยกรรมเป็นดั่งวิหารแห่งศิลปะที่น่าหลงใหลและชวนให้ติดตาม
Photo: National Assembly Building in Dhaka, Bangladesh
ศิลปะแห่งการจัดการพื้นที่ว่าง
การสร้างจังหวะจะโคนของแสงและเงาที่มีชั้นเชิงของ Louis Kahn ยังมาพร้อมกับเทคนิค Mass & Void ซึ่งเขาใช้แนวคิดที่เรียกว่า Master and Servant Spaces ในการจัดการพื้นที่ว่างหลักและพื้นที่ว่างสนับสนุนเพื่อให้เกิดส่วนทึบและช่องว่างที่อนุญาตให้แสงและเงาทำหน้าที่ของตัวเองอย่างสมบูรณ์แบบ
แสงที่ส่องเข้ามากระทบกับโครงสร้างหรือผนังภายในอาคารไม่เพียงสร้างเฉดของเงา แต่ยังเป็นพู่กันมหัศจรรย์ที่ระบายให้อิฐแต่ละก้อน คอนกรีตแต่ละแผง โครงสร้างแต่ละเลเยอร์ เผยสัจจะความงามเสมือนภาพวาด 3 มิติบนแคนวาสผืนใหญ่ที่น่าค้นหาและมีชีวิตชีวามากกว่าสิ่งก่อสร้างทั่วไป ขณะเดียวกันก็รองรับฟังก์ชั่นการใช้งานได้ตรงจุดประสงค์ไม่ว่ารูปแบบของ Living หรือ Working ที่เหมาะกับคนยุคปัจจุบัน และที่สำคัญคือยังคงรักษาแสงธรรมชาติไว้ให้ผู้ใช้งานได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่
แม้พรสวรรค์และเส้นทางการออกแบบโดยใช้แสงและเงาที่มีอยู่ในธรรมชาติอย่างรู้คุณค่าของสถาปนิกแห่งแสงอย่าง Louis Kahn จะจบลงพร้อมกับความตายเมื่อปี ค.ศ. 1974 แต่อิทธิพลการทำงานของเขายังคงเป็นแรงบันดาลใจให้นักออกแบบรุ่นใหม่จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น Tadao Ando, Peter Zumthor หรือ Axel Schultes ได้หยิบเอาความมืดดำของเงามาใช้อย่างสร้างสรรค์ และเพิ่มมุมมองต่อการออกแบบสถาปัตยกรรมโมเดิร์นด้วยแรงขับเคลื่อนอันสว่างไสว พร้อมกับยกย่องให้ Louis Kahn คือตัวจริงของ The Architect of Light จวบจนทุกวันนี้
#NirvanaLivingRevolution #RevolutionOfModernDesign #NaturalModern #DetailsMakeMagic #NirvanaHome #NirvanaDaii #Architect