Multi-Generational Home เทรนด์ดีไซน์บ้านแห่งศตวรรษที่ 21
กว่า 70.8% ของคนไทยต้องการอยู่อาศัยในบ้านที่มีสมาชิกหลายช่วงวัย และไม่เพียงในวัฒนธรรมตะวันออกเท่านั้น Multi-Generational Households ในโลกตะวันตกไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา แคนาดา สหราชอาณาจักร หรือออสเตรเลียก็กำลังเป็นเทรนด์มาแรงเช่นกัน จนเกิดเป็นกระแสการออกแบบบ้านยุคใหม่ที่รองรับครอบครัวขยาย สร้างความสุขในการใช้ชีวิตร่วมกันของคนต่างวัย ต่างความชอบ และต่างความต้องการ โดยเทรนด์การดีไซน์บ้านยุคใหม่ให้ตอบโจทย์การอยู่อาศัยแบบครอบครัวใหญ่ใต้ชายคาเดียวกันนี้ ได้แก่
Multiple Master Bedrooms
Dual Master Bedrooms กลายเป็นเทรนด์ล่ามาแรงของการออกแบบบ้านกลุ่มลักชัวรี ซึ่งนอกจากจะรองรับการเติบโตของครอบครัวในอนาคตแล้ว ยังสามารถรองรับการนอนแยกห้องของคู่สามีภรรยาเพื่อพฤติกรรมการนอนหลับที่ดีขึ้นได้อีกด้วย
ห้องนอนและห้องน้ำเป็นพื้นที่ใช้งานประจำวันที่ต้องการความเป็นส่วนตัวสูง หากในบ้านหนึ่งหลังมีห้องนอนและห้องน้ำน้อยเกินไปหรือไม่พอเพียงกับความต้องการของสมาชิกอาจทำให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ เกิดความไม่พอใจ หรือเบียดบังเวลาใช้งานกันและกันได้ การออกแบบบ้าน Multi-Generational Home ยุคใหม่ จึงมักมาพร้อมห้องนอนที่มีพื้นที่กว้างรองรับการใช้สอยครบจบในห้องเดียวทั้งส่วนเตียงนอน โซนเก็บเสื้อผ้าและแต่งตัว มุมนั่งเล่น และห้องน้ำ ทำให้สมาชิกแต่ละคนมีสเปซไว้ใช้งานโดยไม่มีใครขัดจังหวะ อันเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น รวมถึงเป็นอาณาจักรในการแสดงตัวตน ทำกิจกรรมต่างๆ อย่างอิสระ หรือโชว์ความสนใจชื่นชอบผ่านข้าวของตกแต่งต่างๆ ได้อย่างเต็มที่
Multiple Living Spaces
การจัดสรรพื้นที่นั่งเล่นส่วนรวมสำหรับคนหลายเจนอย่างน้อย 2 พื้นที่เป็นอีกฟังก์ชั่นเด่นในเทรนด์ Multi-Generational Home เพื่อตอบโจทย์การใช้งานที่แตกต่างกันของแต่ละวัยและความชื่นชอบ นอกจาก Formal living room ที่เป็นมาตรฐานบ้านพักทั่วไปสำหรับใช้กันเองภายในครอบครัวหรือเป็นโซนต้อนรับแขกแล้ว เรายังจะได้เห็นพื้นที่พักผ่อนเพิ่มเติมไม่ว่าจะในรูปแบบของ Family Room ที่ให้ความรู้สึกใกล้ชิดสนิทสนมยิ่งขึ้น หรือ Semi-Outdoor Terrace ที่เกิดจากการออกแบบแปลนบ้านรูปตัว L หรือ C ทำให้ตัวอาคารโอบล้อมสร้างเป็นส่วนตัวจากสายตาคนภายนอกได้เป็นอย่างดี การมีพื้นที่ส่วนรวมที่รองรับกิจกรรมที่ต่างกันของสมาชิกแต่ละคนในเวลาเดียวกันนั้น ช่วยลดการปิดตัวเองอยู่ในแต่ห้องนอน เปิดกว้างเชื่อมต่อถึงกันกลายเป็นพื้นที่อรรถประโยชน์ ที่ที่สมาชิกแต่ละคนยังอยู่ในสายตาซึ่งกันและกันได้แม้ทำกิจกรรมต่างกัน เช่น ผู้สูงอายุเล่นกับหลานๆ ในห้องรับประทานอาหารเพื่อรอพ่อและแม่ที่กำลังช่วยกันปรุงอาหารในครัว เป็นต้น
Multiple entrances
สมาชิกแต่ละเจนล้วนมีตารางชีวิตแตกต่างกัน ทำให้เวลาเข้า-ออกบ้านอาจเหลื่อมล้ำกันไปมา ดังนั้นเพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนคนที่ยังอยู่ในบ้าน บวกกับมีการสัญจรที่คล่องตัวได้ตลอดทั้งวัน การออกแบบประตูทางเข้าแยกเป็นสัดส่วนสำหรับบ้านครอบครัวขยายยุคใหม่จึงกลายเป็น “ของมันต้องมี”
การแยกประตูเข้า-ออกที่มากกว่า 1 จุด ยังสามารถใช้เป็นตัวแบ่งโซนการใช้พื้นที่เพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวของแต่ละคนได้เป็นอย่างดี หรือใช้จำกัดพื้นที่ใช้งานเฉพาะบุคคล เช่น ประตูสำหรับต้อนรับแขกที่สามารถตรงเข้า Formal Living Room ได้เลย ประตูทางเข้าสำหรับแม่บ้านที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร หรือประตูที่เชื่อมต่อกับลานจอดรถทำให้เข้า-ออกได้อย่างรวดเร็ว เป็นต้น
เทรนด์การออกแบบบ้านที่คนหลายช่วงวัยใช้ชีวิตร่วมกันเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ต้องอาศัยความเข้าใจรูปแบบชีวิตที่แตกต่าง รับรู้ความต้องการที่หลากหลาย ตลอดจนการนำความรู้ทางสถาปัตยกรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อรักษาสมดุลระหว่างพื้นที่ส่วนตัว (Private Space) และพื้นที่ส่วนกลาง (Shared Space) โดยมีเป้าหมายสูงสุดในการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ ความสุข ความกลมเกลียว และความอบอุ่นให้สมาชิกครอบครัวยุคใหม่ได้ครอบครองอย่างแท้จริง
#DetailsMakeMagic #Design #NirvanaHome #NirvanaDaii #NirvanaLivingRevolution #NaturalModern