Office Trends Update : Activity-based working
แนวโน้มความเปลี่ยนแปลงโลกแห่งการทำงานที่เกิดจากการผลัดเจนเนอเรชั่นของแรงงานและการก้าวเข้ามามีบทบาทของเทคโนโลยี ส่งผลให้มีวิธีการใหม่ๆ ในการทำงานและหนึ่งในเทรนด์ล่ามาแรงคือ Activity-based working (ABW) หรือกลยุทธ์การจัดพื้นที่และสภาพแวดล้อมในสถานที่ทำงานให้อิงกับกิจกรรมในมือของพนักงาน แทนที่จะมอบหมายโต๊ะทำงานประจำให้แต่ละบุคคล ซึ่งให้ผลประโยชน์แบบ Win-Win ทั้งคนทำงานและการบริหารจัดการสำหรับองค์กร
การออกแบบพื้นที่สไตล์ Activity-based working
โดยทั่วไป พื้นที่การทำงานมักถูกแบ่งตามตำแหน่งหน้าที่ กล่าวคือหากเป็นระดับผู้บริหารจะมีห้องทำงานเป็นสัดส่วน ในขณะที่พนักงานระดับปฏิบัติการต้องนั่งอยู่รวมกันเป็นทิวแถว แต่สำหรับ Activity-based working เน้นการออกแบบพื้นที่ให้สอดรับกับพฤติกรรมการทำงาน หรือโฟกัสไปที่เนื้องานหรือโปรเจ็คงานที่อยู่ในความรับผิดชอบเป็นหลัก และให้อิสระคนทำงานได้เลือกโลเคชั่นในออฟฟิศตามความเหมาะสมของงานนั้นๆ โดยอาจคำนึงถึงเป้าหมายของการทำงานใน 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่
- Focusing คือ พื้นที่การทำงานที่ต้องการความเป็นส่วนตัวสูง ปราศจากการรบกวนจากสิ่งแวดล้อมรอบข้าง
- Connecting คือ พื้นที่เปิดสำหรับสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างพนักงาน เพื่อแลกเปลี่ยน พูดคุย หรือทำงานร่วมกัน
- Recreation คือ พื้นที่สันทนาการเพื่อส่งเสริมสุขภาวะในออฟฟิศ สร้างสมดุลการทำงานและการใช้ชีวิต
พื้นที่ทำงานจึงสามารถเป็นได้ทั้ง Hot Desk โต๊ะทำงานที่แต่ละคนสามารถหมุนเวียนเปลี่ยนกันนั่งได้เรื่อยๆ พื้นที่นั่งทำงานคนเดียวโดยไม่มีใครรบกวน ห้องประชุมขนาดย่อม หรือแม้กระทั่ง Recreation Area ที่เต็มไปด้วยความผ่อนคลาย โดยสถานที่ทั้งหมดนี้ควรติดตั้งเดินสายปลั๊กไฟให้เรียบร้อยเพื่อรองรับอุปกรณ์การทำงานต่างๆ รวมทั้งสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้อย่างครอบคลุม เพื่อให้การทำงานเกิดขึ้นได้ทุกที่ในออฟฟิศอย่างไม่มีสะดุด
ขยายขีดความสามารถในการทำงาน
เมื่อเส้นแบ่งพื้นที่การทำงานถูกลบออกด้วยแนวคิด Activity-based working พนักงานจะรู้สึกถึงความยืดหยุ่น และเป็นอิสระมากขึ้น อันนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพและสุขภาพทางร่างกายและจิตใจ ที่เป็นพื้นฐานสำคัญในการปลดปล่อยศักยภาพแห่งการทำงานของพนักงานให้ออกมาอย่างเต็มที่ จากการสำรวจของนักวิจัยชาวดัชต์พบว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างที่ทำงานในสิ่งแวดล้อมแบบ ABW รู้สึกมีพลัง กระฉับกระเฉง และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เนื่องจากในแต่ละวัน พนักงานสามารถนั่งหรือยืนทำงาน หรือพบปะใครสักคนที่ไม่ใช่คนในทีมของตัวเอง เพื่อทำให้งานที่รับผิดชอบอยู่สำเร็จลุล่วงไปได้ ส่งผลให้สถานการณ์แต่ละช่วงเวลาของวันนั้นๆ มีความหลากหลาย จนทำให้เกิด Movement ในการหามุมทำงานที่เหมาะสมที่ทำให้อัตราการก้าวเดินเฉลี่ยของมนุษย์ทำงานเพิ่มขึ้นจนมีนัยสะท้อนถึงการเคลื่อนไหวที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายและลดปัญหาออฟฟิศซินโดรมได้
การปรับเปลี่ยนโลเกชั่นใหม่ๆ ยังกระตุ้นการทำงานของสมองให้ตื่นตัวอยู่เสมอ เพราะต้องคิดวางแผนว่าจะนั่งที่ไหน ทำงานอย่างไรเพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาดีที่สุด หรือหากต้องทำงานร่วมโต๊ะกับคนแปลกหน้าจะมีวิธีรับมือกับอีกฝ่ายอย่างไร รวมทั้งการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างก็ทำให้เกิดมุมมองใหม่ๆ ที่เป็นผลบวกต่อการเพิ่มระดับความคิดสร้างสรรค์
สร้างความคุ้มค่าที่มากกว่าสำหรับองค์กร
เทรนด์ของ Activity-based working กำลังถูกประยุกต์เข้าในหลายๆ องค์กร เนื่องจากช่วยบริหารจัดการพื้นที่ได้อย่างคุ้มค่าและประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าการจัดสรรพื้นที่แบบเดิมๆ ตัวอย่างเช่นบริษัทรับออกแบบแห่งหนึ่งในกรุงลอนดอนที่นำ ABW มาใช้ สามารถลดจำนวนโต๊ะทำงานที่ใช้งานไม่เต็มประสิทธิภาพได้ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ จึงทำให้มีพื้นที่ว่างเพิ่มขึ้น และสามารถทดแทนด้วยฟังก์ชั่นที่มีประโยชน์มากกว่า
ด้วยคาแรคเตอร์องค์กรที่ยืดหยุ่น ไดนามิค และเปิดกว้าง ยังกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือในกลุ่มคนทำงาน ซึ่งเป็นพลังสำคัญในการผลักดันให้องค์กรก้าวไปข้างหน้าได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม อีกทั้งยังสร้างภาพลักษณ์องค์กรให้แตกต่างด้วยวิถีการทำงานรุ่นใหม่ ที่จะดึงดูดคนทำงานดีมีความสามารถให้เข้ามาร่วมงาน ตลอดจนรักษาคนเก่งให้อยู่กับองค์กรไว้ได้นานขึ้น ซึ่งนับเป็นการช่วยจัดการ Cost เรื่องการบริหารทรัพยากรบุคคลได้อีกทางหนึ่งด้วย
พื้นที่การทำงานสไตล์ Activity-based working จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการออกแบบพื้นที่สำหรับธุรกิจรุ่นใหม่ ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ได้เป็นอย่างดีกับโฮมออฟฟิศ Nirvana @WORK ด้วยขนาดพื้นที่กำลังพอดี สามารถปรับแต่งฟังก์ชั่นได้ตามกิจกรรมหรือโปรเจ็คงาน รองรับ 3 เป้าหมายการทำงานตามสไตล์ ABW ทั้งโฟกัส ร่วมมือ และผ่อนคลาย เพื่อนำไปสู่โอกาสและความสำเร็จที่ดีกว่าเดิม
#DetailsMakeMagic #Design #NirvanaHome #NirvanaDaii #Nirvanadaii.com #instagram.com/nirvana_daii